สำหรับเพื่อนๆ ชาวยังโสด ที่กำลังมองหา “ต้นไม้ฟอกอากาศ” อยู่ล่ะก็มาถูกทางแล้ว จากผลการวิจัยจากนาซ่า เรามาดูต้นไม้ฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอ้างอิงจากผลการทดลองของ NASA จะมีต้นอะไรบ้างไปดูกันเลย
จากปัญหา PM 2.5 ฝุ่นพิษขนาดเล็ก ทำลายสุขภาพ โดยเป็นฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ถ้าหากเราไม่ป้องกัน จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ไปสะสมเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ ไม่ว่าจะ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็งปอด เป็นต้น
ดังนั้นทางที่ดีควรใส่ หน้ากากอนามัย N95 จะดีที่สุด และเราสามารถติดตามค่าฝุ่น PM2.5 ได้หลากหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นที่แอดนิยมใช้มากที่สุดคือแอพที่ชื่อ AirVisual ที่มี widget สามารถดูค่าฝุ่นพิษได้ที่หน้า Home Screen ได้เลย ถือว่าสะดวกมากๆ
ในปี 1989 ทาง National Aeronautics and Space Administration หรือ NASA ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับต้นไม้ที่ปลูกในที่ร่มแล้วสามารถฟอกอากาศได้ดีที่สุด
ในการทดลองนี้นำโดย ดร. B. C. Wolverton ได้ค้นพบว่าพืชนั้น มีความสามารถในการกรองหรือดูดซับสารเคมีบางตัวได้แก่ เบนซิน แอมโมเนีย ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้นจากอากาศ
และพบว่าพืชเขตร้อนบางชนิดนั้นเหมาะกับการนำมาตั้งไว้ในอาคาร เพื่อดูดซับและฟอกอากาศภายในอาคาร
ในรายงานยังบอกอีกด้วยว่า ควรจะมีต้นไม้หนึ่งต้นในทุกๆ หนึ่งร้อยตารางฟุตในบ้านหรืออาคารสำนักงาน
ในการทดลองนั้น ดร. Wolverton ได้นำต้นไม้มาทดสอบประสิทธิภาพในการฟอกอากาศจากสารเคมี 5 ชนิดได้แก่ เบนซิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทีลีน ไซลีน/โทลูอีน แอมโมเนีย พืชที่นำมาทำการทดลองนั้นมีมากถึง 31 ชนิด
และนี่คือต้นไม้ 10 ชนิดที่มีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศมากที่สุด อ้างอิงจากผลการทดลอง
1. เดหลี (Peace Lily)
ต้นเดหลี เป็น 1 ใน 2 ของต้นไม้ฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมที่สุด สามารถฟอกอากาศจากสารเคมีที่ทำการทดลอง 5 ชนิดได้ทั้งหมด
ต้นเดหลีสามารถหาซื้อได้ทั่วไปในไทย และเป็นต้นไม้ที่ได้รับความนิยมในการปลูกเพื่อประดับต้น ประดับใบ มีดอกที่สวยงาม มีใบขนาดใหญ่เขียวเข้ม ทำให้สบายตาจึงเหมาะมากหากนำมาไว้ในบ้านหรือสำนักงาน แถมยังช่วยฟอกอากาศได้ดีอีกด้วย
2. เบญจมาศ (Chrysanthemum)
ต้นเบญจมาศ เป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิดที่มีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศดีที่สุด และสามารถฟอกสารเคมีได้ทั้งหมดที่ทำการทดลอง
ต้นเบญจมาศ ก็เป็นอีกหนึ่งต้นไม้ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป และรู้หรือไม่ว่าเป็นต้นไม้ที่ซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากกุหลาบเท่านั้น! ดอกมีสีสันสดใส และมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก จึงเหมาะสำหรับการจัดไว้ในบ้าน แถมยังเพิ่มความสวยงามน่ามอง มีชีวิตชีวาอีกด้วย
3. ไอวี่ (English Ivy)
ต้นไอวี่ เป็นต้นไม้ 1 ใน 4 ของต้นไม้ที่ฟอกสารเคมีได้เกือบทั้งหมด ได้แก่ เบนซิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทีลีน ไซลีน/โทลูอีน ยกเว้นเพียงแค่ไม่สามารถฟอกแอมโมเนียได้ แต่ก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทีเดียว
ต้นไอวี่ข้อดีเด่นๆ คงจะหนีไม่พ้นคือเลี้ยงง่ายมาก เป็นพืชในร่ม แต่เป็นไม้เลื้อย อาจต้องปลูกในแนวดิ่ง
4. ลิ้นมังกร (Snake Plant)
ต้นลิ้นมังกร จัดเป็นอีกหนึ่งต้น จากผลการทดลองประสิทธิภาพเดียวกันกับต้นไอวี่
เราอาจพบเคยเห็นต้นนี้บ่อยๆ ในอาคารสำนักงานมักจะจัดต้นลิ้นมังกรนี้เอาไว้ในมุมต่างๆ ซึ่งตามความเชื่อจากคนสมัยก่อน มักจะปลูกต้นลิ้นมังกรไว้ ช่วยปกป้องอันตรายจากภายนอกได้ เพราะในอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันจะเรียกว่า หอกพระอินทร์ นั่นเอง
5. เข็มสามสี (Red-Edged Dracaena)
ต้นเข็มสามสี มีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศเช่นเดียวกับต้นไอวี่ ที่ขาดแค่ไม่สามารถฟอกอากาศจากแอมโมเนียได้
ต้นเข็มสามสีถึงจะมีคำว่าเข็มแต่ก็มีหน้าตาไม่เหมือนกับต้นเข็มที่เราเอามาไหว้ครู แต่ที่เรียกกันว่าเข็มสามสี เพราะมีใบเรียวแหลมคล้ายเข็ม ใบมีสีที่เข้มเด่น 3 สีนั่นเอง
6. ปาล์มไผ่ (Bamboo Palm)
ต้นปาล์มไผ่ เป็นต้นสุดท้ายที่ประสิทธิภาพในการฟอกอากาศ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับต้นไอวี่
ต้นปาล์มไผ่เป็นพืชจำพวกปาล์ม ลำต้นแตกเป็นกอ ต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโกและอเมริกาใต้ ใบเรียวเขียวสวยงาม เหมาะกับการจัดกระถางแล้วนำมาไว้ตามมุมต่างๆ เพิ่มความสวยงามและผ่อนคลายสายตา แถมยังช่วยฟอกอากาศภายในอาคารหรือบ้านได้อีกด้วย
7. พลูด่าง (Money Plant)
ต้นพลูด่าง จากผลการทดลองจะฟอกอากาศได้ 3 จาก 5 สารเคมีที่ทำการทดลองได้แก่เบนซิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน/โทลูอีน โดยไม่สามารถดูดซับหรือฟอกอากาศจากแอมโมเนีย และไตรคลอโรเอทีลีนได้ แต่ก็ยังถือว่าประสิทธิภาพยังอยู่ในเกณฑ์ดี ถ้าเป็นคะแนนสอบก็ยังถือว่าผ่านอยู่
เราทุกท่านคงต่างคุ้นชินกับต้นพลูด่างนี้มากที่สุด เพราะหาซื้อได้ง่าย ปลูกง่ายดูแลง่าย แถมยังฟอกอากาศได้ดีอีกด้วย ด้วยใบที่เรียว สีเขียวสวยงามมีหลายสายพันธุ์ ทำให้เหมาะในการจัดหามาวางไว้ประดับโซนต่างๆ ในบ้านหรือสำนักงาน
8. ดอกหน้าวัว (Flamingo Lily)
ต้นดอกหน้าวัว สามารถฟอกอากาศได้ 3 จาก 5 สารเคมีคล้ายๆ ต้นพลูด่าง แต่ต่างกันตรงที่ชนิดของสารเคมีที่สามารถฟอกอากาศได้ ได้แก่ ฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน/โทลูอีน แอมโมเนีย โดยไม่สามารถดูดซับเบนซินและไตรคลอโรเอทีลีนได้
ด้นดอกหน้าวัวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในโคลัมเบียและเอกวาดอร์ โดยดอกมีสีสันสดใส มักนิยมนำมาใช้ในโอกาสต้อนรับ แสดงความยินดี สื่อแทนความรักที่ว่า รักแท้ไม่เปลี่ยนแปลง
9. วาสนาราชินีมรกต (Janet Craig)
ต้นวาสนาราชินีมรกต จากผลการทดลองจะช่วยดูดซับสารเคมีจำพวก เบนซิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทีลีน ไซลีน/โทลูอีน แอมโมเนีย แต่ไม่สามารถดูดซับไซลีน/โทลูอีน หรือแอมโมเนียได้
ต้นวาสนาราชีนีมรกต หรืออีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันคือ วาสนามังกรหยก เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่นำมาใช้ในเรื่องของฮวงจุ้ยอีกด้วย ด้วยรูปทรงสวยงาม ชื่อเป็นมงคล จึงเหมาะเป็นอย่างมากที่จะนำมาปลูกไว้ในบ้าน เสริมมงคลแถมยังช่วยในเรื่องฟอกอากาศภายในที่อยู่อาศัย
10 ประกายเงิน (Warneckei)
ต้นประกายเงิน เป็นอีกหนึ่งต้นไม้ที่ช่วยฟอกสารเคมีจาก 3 ใน 5 ชนิดเหมือนกับต้นวาสนาราชินีมรกตทุกประการ
แค่ชื่อของต้นประกายเงิน ก็เป็นมงคลแล้ว ยังเป็นต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศได้ดี ถึงแม้ชื่อไทยจะเป็นมงคล แต่ถิ่นกำเนิดกลับมาไกลถึงแอฟริกาเลยทีเดียว ในบ้านเรานั้นนิยมปลูกกันเป็นอย่างมาก เป็นไม้ล้มลุก ด้วยใบเรียวยาวสวยงามโดดเด่น ปลายแหลม ใบรอบลำต้น จึงเหมาะที่จะจัดสักกระถางวางประดับโต๊ะหรือมุมต่างๆ เพิ่มความสวยงามภายในบ้านและเสริมมงคลอีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับการคัดมาเน้นๆ สำหรับ 10 ต้นไม้ฟอกอากาศที่ดีที่สุด จากผลการทดลองของ NASA สำหรับบ้านและสำนักงาน ที่หาได้ไม่ยากไม่ง่ายตามร้านต้นไม้ทั่วไป หวังว่าเพื่อนๆ ที่กำลังสนใจหรือหาต้นไม้ฟอกอากาศอยู่ บทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ไม่มากก็น้อย
ตอนนี้มีกระแสต้นไม้ฟอกอากาศค่อนข้างมาก แอดก็เป็นหนึ่งคนที่กำลังสนใจ ก็เลยหาข้อมูลแล้วเห็นว่าน่าสนใจเลยรวบรวมข้อมูลเอามาแชร์ให้เพื่อนๆ ได้รู้กัน^^
จริงๆ มีอีกต้นที่น่าสนใจที่เค้านำมาใช้ในการทดลองด้วยคือต้นกล้วย แต่จากการทดลองพบว่าช่วยดูดซับสารเคมีได้แค่ 1 ใน 5 จากสารที่นำมาทดลอง นั่นคือช่วยดูดซับได้เพียงแค่ฟอร์มาลดีไฮด์ ตัวเดียวเท่านั้น แล้วก็น่าแปลกใจที่เค้าเลือกต้นนี้มาทดลอง เพราะว่าเรามักคุ้นตากับต้นกล้วยในไร่ในสวนมากกว่า
หากชอบบทความนี้อย่าลืมกดไลค์เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเรา และกดแชร์แบ่งปันบทความดีๆ ให้เพื่อนๆ ด้วยนะจ๊ะ^^
ติดตามเราได้ที่:
Facebook fanpage: https://www.facebook.com/youngsoad
twitter: https://www.twitter.com/Youngsoad
instagram: https://www.instagram.com/youngsoad
บทความโดย: ยังโสด
แหล่งอ้างอิง: ลิงค์1, ลิงค์2, ลิงค์3, ลิงค์4